วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

Energy Sources: แหล่งพลังงาน

Tay117 บันทึก "
Molecular bonds (แขนพลังงานที่เชื่อมระหว่างโมเลกุล ขอโทษด้วย ลืมไปแล้วว่าชื่อไทยเรียกอะไร) ในอาหารเชื่อมกันด้วยพลังงานต่ำ และง่ายต่อการถูกทำลาย (เช่น ใช้ความร้อนปรุงอาหาร ทำให้เนื้อนิ่มขึ้น) ดังนั้นอาหารจึงไม่ถูกนำมาใช้งานโดยตรงในระดับเซล แต่เมื่ออาหารถูกย่อย จะปล่อยพลังงานจาก molecular bonds ให้ภายในเซลต่าง ๆ ตามร่างกาย และเซลก็จะนำ พลังงานเหล่านี้มาสร้าง โมเลกุลพลังงานสูง เก็บไว้ เรียกว่า ATP นั่นเอง

คาร์โบไฮเดรต (carbohydrate)

คาร์โบไฮเดรตจะถูกย่อยเป็นกลูโคส (glucose) - ส่วนประกอบที่เล็กที่สุดของคาร์โบไฮเดรต กลูโคสจะถูกลำเลียงผ่านทางกระแสเลือดไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (คาร์โบไฮเดรตใหญ่เกิน ลำเลียงทางเลือดไม่ได้) ในขณะพักผ่อน หรือนั่งนิ่ง ๆ ไม่ออกกำลัง กลูโคสจะถูกเก็บโดย เซลกล้ามเนื้อ และตับ โดยการเปลี่ยนกลูโคส กลับเป็นน้ำตาลที่มีส่วนประกอบซับซ้อนกว่า เรียกว่า ไกลโคเจน (glycogen) ไกลโคเจนโดยปกติแล้วจะมีอยู่ในเซลกล้ามเนื้อและตับ เมื่อเซลกล้ามเนื้อถูกใช้งานโดยการออกกำลัง มันจะย่อยไกลโคเจน กลับไปเป็นน้ำตาลกลูโคส และใช้กลูโคสสร้าง ATP เพื่อให้พลังงานแก่เซลที่ต้องการพลังงาน (โดยเฉพาะ เซลสมอง เป็นเซลที่ชอบน้ำตาลเป็นที่สุด และไขมันผ่านไปในสมองไม่ได้ดังนั้น สมองทำงานตลอดเวลา ดังนั้นเราต้องใช้น้ำตาลกลูโคส ตลอดวัน โดยมากจะได้จากไกลโคเจนนั่นเอง นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ผมไม่สนับสนุน low carb diet เพราะ ร่างกายจะถูกบังคับให้หันไปใช้ไขมัน และโปรตีนสำหรับความต้องการประจำวัน)


ตับและเซลกล้ามเนื้อมีขีดจำกัดในการเก็บรักษาไกลโคเจน โดยเฉพาะไกลโคเจนในกล้ามเนื้อสามารถถูกใช้งานจนหมดได้ในการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลานาน ดังนั้น เรามีความจำเป็นต้องทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเป็นประจำทุกวัน ถ้าไม่มีการเพิ่มเติมคาร์โบไฮเดรต ตับและเซลกล้ามเนื้อจะไม่มีแหล่งพลังงาน (ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อ เป็นแหล่งพลังงานแรกที่เซลจะนำมาใช้ โดยเฉพาะในการออกกำลังประเภท weight training นี่เป็นอีกเหตุผลที่ผมไม่สนับสนุน low carb diet...)

ไขมัน (fat)

ไขมันเมื่อถูกย่อยสลายจะกลายไปเป็น free fatty acid หรือ กรดไขมันนั่นเอง ไขมันถูกเก็บรักษาในแหล่งใหญ่ ๆ ในร่างกาย ๑. ใต้ผิวหนัง และ ๒. ตามอวัยวะภายใน (แหล่งที่สองนี้อันตรายถ้ามีมากไป) ไขมันถูกนำมาใช้ได้ช้ามาก เพราะว่ามันถูกเก็บรักษาในรูปแบบไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ซึ่งใหญ่และ เมื่อจะนำมาใช้ต้องย่อยให้เป็นกรดไขมันและลำเลียงตามเลือดไปให้เซลกล้ามเนื้อ การใช้พลังงานจากไขมันมีความจำเป็นต้องใช้ออกซิเจน ซึ่งแตกต่างจากคาร์โบไฮเดรต ตรงที่คาร์โบไฮเดรตใช้ออกซิเจนหรือไม่ก็ได้ โดยปกติเวลาพักผ่อน หรือออกกำลังกายอย่างเบา ๆ เช่น เดิน จ๊อกกิ้งช้า ๆ ร่างกายจะใช้ไขมันโดยมาก และเก็บรักษาไกลโคเจนไว้ให้เซลกล้ามเนื้อใช้ตอนออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น เล่นเวท ยกน้ำหนัก วิ่งร้อยเมตร

โปรตีน (protein)

โปรตีนเมื่อถูกย่อยส่วนที่เล็กที่สุดที่ย่อยได้คือ กรดอะมิโน (amino acid) โปรตีนเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ตามร่างกายของเรา เช่น กล้าม ผม ขน ฮอร์โมนบางชนิด เล็บ ผิวหนัง ดังนั้นร่างกายจะไม่นำโปรตีนมาใช้ถ้าไม่มีความจำเป็นจริง ๆ โปรตีนตามกล้ามเนื้อจะถูกย่อยสลายมาเป็นพลังงาน (โดยการเปลี่ยนกรดอะมิโนเป็นกลูโคส) ในเฉพาะเวลาอดอาหารเป็นเวลานาน (ประมาณหนึ่งวันขึ้นไป) หรือในเวลาออกกำลังอย่างหนักเป็นเวลานาน (แต่ในกรณีออกกำลังโปรตีนถูกนำมาใช้สูงสุดประมาณ 5-10% ของพลังงานที่ต้องการทั้งหมดเท่านั้น ถ้าไม่วิ่งมาราธอน หรือเล่นแต่ cardio ก็ไม่ต้องกลัวจะเสียกล้ามเนื้อ) โปรตีนถูกเก็บรักษาไว้ในร่างกายไม่ได้ ถ้ากล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งาน ร่างกายจะตัดออก เพราะเก็บไว้ไม่มีความจำเป็นที่จะเก็บไว้ให้เสียพลังงานเปล่า ๆ นี่เป็นอีกเหตุผลที่ว่า ถึงจะฉีดสเตอร์รอยด์ ทานเวย์ ถ้าไม่เล่นเวท อย่างไรกล้ามเนื้อก็ไม่มีการพัฒนา โปรตีนถูกกรองโดยไตปัสสาวะออกมาหมด และทำให้ไตทำงานหนักขึ้นด้วย

จาก Wilmore, J.H., & Costill, D.L. (2004). Physiology of Sport and Exercise, Human Kinetics.

คัดลอกและเพิ่มเติมข้อคิดเห็นโดย Tay117"